mRNA คืออะไร ? ต่างจากการผลิตวัคซีนโควิดวิธีอื่นอย่างไร

กระแสโซเชียลในช่วงนี้มีการพูดถึง วัคซีนชนิด “mRNA” เป็นจำนวนมาก แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า mRNA แท้จริงแล้วย่อมาจากอะไร วันนี้ Longdo จะพาไปทำความรู้จักวัคซีนชนิดนี้กันค่ะ

ข้อมูลจาก ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายเอาไว้ในบทความวิชาการ ระบุว่า

mRNA (อ่านว่า เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ) ย่อมาจาก messenger Ribonucleic Acid เป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนขึ้นตามรหัสคำสั่งนั้นๆ เป็นกลไกปกติของร่างกาย

การทำงานของวัคซีนชนิด mRNA

หลักการทำงานของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA คือการเอาชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด- 19 (mRNA) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัสนำมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่งที่เรียกว่า S-spike mRNA

เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และโปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้เองจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

วัคซีน mRNA ให้ผลในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 สูงถึง 95% โดยวัคซีนชนิด mRNA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา

ข้อดี-ข้อจำกัด ของวัคซีนชนิด mRNA

ข้อดี : ผลวิจัยจากมูลนิธิเพื่อการทำงานของประชากรและสุขภาพของประชากร (PHG) ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เผยว่าวัคซีน mRNA มีความปลอดภัยสูง เพราะไม่มีเชื้อไวรัสที่มีชีวิตหลงเหลือ ไม่เกิดความเสี่ยงต่อร่างกาย เชื่อถือได้ และผลิตได้ง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย

ข้อจำกัด : มีข้อมูลถึงการแพ้และอาจมีผลข้างเคียง และวัคซีนชนิดนี้ใช้เทคนิคการผลิตวัคซีนแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนตัวอื่น ทำให้มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยระยะยาว และต้องเก็บรักษาอย่างดีเพื่อคงประสิทธิภาพวัคซีน

เปรียบเทียบกับวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายอย่าง Sinopharm, Sinovac ที่ใช้ไวรัสที่อ่อนแอลงหรือตายแล้วมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน 

ข้อดี : GAVI (Global Alliance for Vaccine and Immunization) องค์กรความร่วมมือด้านสาธารณสุขระดับโลกระหว่างรัฐและเอกชน เผยว่าเป็นวัคซีนที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อีกทั้งผลิตได้ง่ายกว่าวิธีอื่น 

ข้อจำกัด : ราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากกรรมวิธีในการผลิตต้องดำเนินการในห้องปฎิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับ 3

อาจจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพวัคซีนห้ทันต่อการกลายพันธุ์ไวรัสสายพันธุ์ “เดลตา”

เราพอจะได้ทราบข้อดีและข้อจำกัดของวัคซีนทั้ง 2 ประเภทไปแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนประเภทไหนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ 100% ซึ่งตอนนี้ทุกยี่ห้อกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ดังนั้นพวกเรายังต้องป้องกันตัวเองอย่างดี สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือสม่ำเสมอ

Loading

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.